วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

                                                                                                             ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ย้ำจุดยืนว่าตนไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซตามที่เยอรมนีเสนอ ขณะที่รัฐบาลกรีซอนุมัติมาตรการรับเข็มขัดรอบใหม่หลังมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบต่อไป
 เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า นายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ออกมากล่าวตอบโต้ข้อเสนอในจดหมายที่รัฐมนตรีคลังเยอรมนีส่งถึงประเทศสมาชิกยูโรโซน รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อีซีบี และคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ยืดเวลาหมดอายุของพันธบัตรของกรีซออกไปว่า "มันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่จะดำเนินการตามการตัดสินใจที่นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ" และย้ำว่าจะไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ หรือผิดนัดชำระหนี้บางส่วนเกิดขึ้นกับกรีซ
 เยอรมนีเสนอให้ชักชวนนักลงทุนนำพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่จะครบกำหนดชำระในปี 2555-2557 มาแลกเปลี่ยนกับพันธบัตรใหม่ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 7 ปีข้างหน้าแทน ซึ่งในจดหมายของรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า การแลกเปลี่ยนพันธบัตรในลักษณะดังกล่าวอาจหมายถึงการผิดนัดชำระหนี้บางส่วนของกรีซ มาร์โค วัลลี นักเศรษฐศาสตร์จากยูนิเครดิต ให้ความเห็น อีซีบีชัดเจนว่าไม่ต้องการทำการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามในสภาพการณ์ปัจจุบัน
 ผู้นำชาติยุโรปกำลังพยายามวางรูปแบบของเงินช่วยเหลือกรีซรอบใหม่ให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนกรกฎาคมก่อนที่เงินสดในมือกรีซจะหมดลง และบทบาทของภาคเอกชนได้กลายมาเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งระหว่างเยอรมนีและอีซีบี เยอรมนีปฏิเสธที่จะมอบเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จนกว่าผู้ถือพันธบัตรของกรีซจะยอมแบกรับภาระหนี้สินบางส่วนด้วยการแลกเปลี่ยนพันธบัตร
 อีซีบีจำเป็นต้องอนุมัติการแลกเปลี่ยนดังกล่าว เพราะอีซีบีจะต้องยินยอมที่จะยอมรับพันธบัตรของกรีซที่ได้รับการปรับโครงสร้างมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของธนาคารต่างๆ มิฉะนั้นธนาคารในกรีซอาจล้มได้ แต่เจ้าหน้าที่ของอีซีบียืนยันว่าไม่สามารถรับพันธบัตรรัฐบาลกรีซเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันถ้ากรีซผิดนัดชำระหนี้ในทางเทคนิค พร้อมกับเตือนว่าแม้เพียงการปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นอันเปราะบางของนักลงทุนที่มีต่อธนาคารและพันธบัตรของรัฐบาลประเทศรอบนอกยูโรโซนอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน
 อีซีบีซึ่งมีรัฐบาลฝรั่งเศสหนุนอยู่ สนับสนุนข้อตกลงของธนาคารต่างๆ ที่อาสาจะซื้อพันธบัตรใหม่ของกรีซและปล่อยให้พันธบัตรที่ถืออยู่ครบกำหนดชำระหนี้ ขณะที่เยอรมนีคิดว่าข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงพอ และต้องการเริ่มเจรจากับธนาคารเพื่อแลกเปลี่ยนพันธบัตรที่กำลังจะครบอายุกับพันธบัตรใหม่
 สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า รัฐบาลกรีซเมื่อวันพฤหัสบดี (9 มิ.ย.) มีมติอนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโร นายจอร์จ ปาปาคอนสแทนทินู รัฐมนตรีคลังของกรีซ กล่าวว่าแผนการดังกล่าวถูกส่งไปยังรัฐสภาทันทีที่รัฐบาลเห็นชอบ เพื่อรอการอนุมัติต่อไป
 "แผนการระยะกลางประกอบด้วยการแทรกแซงเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลงให้ได้เหลือ 7.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2554 และขยายการแทรกแซงเพื่อลดการขาดดุลลงในระดับต่ำกว่า 3% ของจีดีพีภายในปี 2557 และเหลือประมาณ 1% ในปี 2558" นายปาปาคอนสแทนทินู กล่าว ยังไม่มีการกำหนดเวลาลงคะแนนที่แน่นอนของรัฐสภา แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกล่าวว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 28 มิถุนายน
 นายอมาเดอู อัลทาฟัจ-ทาร์ดิโอ โฆษกของนายโอลลี เรห์น กรรมาธิการยุโรปฝ่ายการเงิน กล่าวว่า "เราคาดหมายว่ารัฐสภากรีซจะอนุมัติมาตรการที่ทางการกรีซเสนอในการประเมินผลครั้งล่าสุดของทรอยก้า (ตัวแทนจากอียู ไอเอ็มเอฟ และอีซีบี) เพื่อที่รัฐมนตรีคลังยุโรปจะได้นำมาพิจารณาเมื่อพวกเขาตัดสินใจให้เงินช่วยเหลือรอบต่อไป" รัฐมนตรีคลังยุโรปมีกำหนดประชุมร่วมกันที่กรุงบรัสเซลส์ในวันที่ 20 มิถุนายน ก่อนที่ผู้นำประเทศสมาชิกอียูจะร่วมประชุมกันในวันที่ 23-24 มิถุนายน โดยการประชุมทั้งสองครั้งจะมีการนำสถานการณ์ของกรีซมาพิจารณา
 และเมื่อมาตรการได้รับการอนุมัติ รัฐบาลกรีซจะต้องกลับมาทำนโยบายเพิ่มเติมในการนำมาตรการเหล่านี้ไปปรับใช้โดยละเอียด เจ้าหน้าที่ของกรีซกล่าวว่าแผนการทั้งสองส่วนจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือก้อนต่อไปจากไอเอ็มเอฟและอียู
 สำนักงานสถิติแห่งชาติของกรีซรายงานในวันเดียวกันว่า จีดีพีในไตรมาสแรกของกรีซหดตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทรอยก้าคาดหมายว่าเศรษฐกิจกรีซในปี 2554 จะหดตัว 3.8% และถ้าไม่มีการนำมาตรการใหม่มาใช้ในปีนี้ การขาดดุลงบประมาณของกรีซจะอยู่ในระดับเกินกว่า 10% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่า 7.5% ที่ข้อตกลงกู้ยืมเงินช่วยเหลือกำหนดไว้ กระทรวงการคลังกรีซกล่าวว่า มาตรการใหม่จะลดหนี้สาธารณะลงเหลือ 139.5% ของจีดีพีภายในปี 2558 เปรียบเทียบกับ 198.9% ถ้าไม่มีการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น