วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อาเซียน+3 เปิดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ

                                                                                                           ความพยายามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในการก่อตั้งสถาบันความร่วมมือทางการเงินรุดหน้าไปอีกขั้น หลังจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาคของอาเซียน +3 เริ่มเปิดทำการเป็นวันแรกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 พ.ค.) นับเป็นขั้นแรกของการก้าวเข้าสู่ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนการเงินเอเชีย
 หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ รายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน +3 (The ASEAN Plus Three Macroeconomic Research Office: AMRO) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ เป็นหน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่ตรวจตราดูแลเศรษฐกิจมหภาคและจัดการภาวะวิกฤติ โดยตั้งขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และหน่วยงานทางการเงินของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
 นายเหว่ย เปิ่นหัว อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีน เดินทางไปสิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เอเอ็มอาร์โอเป็นคนแรก "การจัดตั้งศูนย์วิจัยนี้ขึ้นจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน +3 ในการป้องกันและต่อสู้กับวิกฤตการณ์ทางการเงิน" นายเหว่ยกล่าวกับไชน่าเดลี่ "มันเหมือนกับการตรวจสุขภาพ  หน่วยงานนี้สามารถตรวจสอบความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับประเทศในกลุ่ม และสามารถแนะนำวิธีการรักษาเมื่อมีความจำเป็น"
 นายเหว่ยกล่าวต่อไปว่า เอเอ็มอาร์โอมีกองทุนสำรองมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในมือ และจะใช้เงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินฉุกเฉินช่วยเหลือประเทศในกลุ่มอาเซียน +3 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้น
 ด้านนักเศรษฐศาสตร์กล่าวชมเชยความร่วมมือในการก่อตั้งเอเอ็มอาร์โอขึ้นว่าเป็นความพยายามที่เป็นประโยชน์ต่อการปูทางไปสู่การจัดตั้งกองทุนการเงินเอเชีย (Asian Monetary Fund หรือ AMF) ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่มีขอบเขตอยู่ในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น โดยกองทุนดังกล่าวอาจกลายมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประเทศในเอเชียนอกเหนือจากไอเอ็มเอฟ
 นายหวัง ชิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนเลย์ เอเชีย ให้ความเห็นว่า นอกจากเอเอ็มอาร์โอจะเป็นการก้าวไปสู่โอกาสในการก่อตั้งเอเอ็มเอฟอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ศูนย์วิจัยดังกล่าวยังจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งอย่างมากให้กับประเทศอาเซียน+3 ในการป้องกันและจัดการกับวิกฤติการทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 ขณะที่นายเซีย ปิน ที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน กล่าวว่า "ยังเป็นหนทางอีกค่อนข้างไกลกว่าที่เอเอ็มเอฟจะเกิดขึ้น แต่เอเอ็มอาร์โอสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับเอเชียในเวทีการเงินนานาชาติ สนับสนุนการทำงานของไอเอ็มเอฟ และอาจจะท้าทายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย"
 เอเอ็มอาร์โอจะตรวจตราแนวโน้มของเศรษฐกิจมหภาค ประเมินความอ่อนไหวทางการเงิน และช่วยให้คำแนะนำด้านนโยบายให้กับประเทศอาเซียน +3 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค นอกจากนี้ยังจะทำหน้าที่ป้องกันการเกิดวิกฤติการเงินผ่านกลไกของกองทุนสำรองที่ศูนย์วิจัยมีอยู่ นายเหว่ยกล่าวด้วยว่า ในภาวะที่ไม่เกิดวิกฤติ เอเอ็มอาร์โอจะสนับสนุนเงินกู้เป็นมูลค่าต่ำกว่า 20% ของมูลค่ากองทุนทั้งหมดกับคู่สัญญาโดยไม่มีเงื่อนไขพิเศษ อย่างไรก็ดีเงินกู้ใดๆ ที่ได้รับการอนุมัติจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น