วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

 อนาคตการส่งออกสินค้าเกษตร                                                                                                                                                    เมื่อกล่าวถึงสินค้าเกษตร ไทยเราขณะนี้ดูจะมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องมาตรการสุขอนามัยของยุโรปเป็นอุปสรรคการนำเข้าผัก-ผลไม้ไทย ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำและก็มีผลคืบหน้าอยู่ซึ่งกำลังรวบรวมมาเล่าสู่กันฟัง สำหรับวันนี้ผมขอกล่าวถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวในประเด็นด้านโครงสร้าง อันจะมีผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยุโรปและที่อื่นๆ นั่นคือประเด็นวิธีการผลิต โดยจะเน้นประเด็นว่าเราจะผลิตอย่างไรให้ได้ปริมาณและคุณภาพเพียงพอและไม่เป็นปัญหาต่อสภาวะแวดล้อมในไทย
 ไทยมีนโยบายที่จะเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ตามยุทธศาสตร์ "ครัวไทยสู่โลก" ที่ดูจะกลายเป็นองค์ประกอบถาวรของนโยบายต่างประเทศไทยไปแล้ว แต่หากมองให้ดี ไทยมีพื้นที่เพียง 320.7 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 122.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 38.2 ของพื้นที่ทั้งหมด และคงจะขยายอีกไม่ได้มากนักเนื่องจากเราไม่อาจแปรพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพิ่มได้ เพราะจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ แรงงานด้านการเกษตรของไทยก็มีมากกว่าร้อยละ 44 ของแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว จะเพิ่มขึ้นก็ลำบากและจะมีปัญหาตามมา
ดังนั้น การใช้วิธีผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ (organic) ล้วนๆ จึงไม่น่าจะเป็นทางออก เนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (เพื่อกำจัดวัชพืช) และต้องใช้พื้นที่เพิ่มถึง 4-5 เท่าในการปลูกพืชสลับหมุนเวียน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับไทย ส่วนจะกลับไปเพาะปลูกพันธุ์พืชดั้งเดิมและไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ผลผลิตก็จะน้อยลง 
 การเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตการเกษตรจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งปัจจุบันมีสองทางเลือก คือการใช้สารเคมี หรือการหันมาใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) แต่ดูเหมือนว่าในประเทศไทย จะมีแรงต้านจีเอ็มโอสูงพอๆ กับการคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ จีเอ็มโอจึงไม่น่าจะใช่ทางเลือกสำหรับไทยในอนาคตอันใกล้เป็นแน่
 จึงเหลือแต่ทางเลือกสารเคมี ซึ่งแม้จะมีแรงต้านอยู่ แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าเป็นทางเลือกที่เลวน้อยที่สุดในขณะนี้ และพอยอมรับได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณการใช้ให้ลดลง และวิธีการใช้ควรถูกต้องตามฉลากและใบอนุญาต ซึ่งความเห็นที่แตกต่างในสังคมไทยเวลานี้ ดูจะอยู่ที่ว่าควรจะลดปริมาณการใช้สารเคมีลงเท่าใด และจะใช้อย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร การที่จะทำสำเร็จได้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ ผู้ขาย (ส่งออก) และผู้บริโภค
  สารเคมีที่ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดวัชพืช ยากำจัดศัตรูพืช ยาเร่งการเติบโต หรือปุ๋ยเคมี หากใช้ในปริมาณและวิธีที่ถูกต้อง ก็น่าจะพอรับได้ แม้แต่ประเทศยุโรปก็ยอมรับให้ใช้กันได้อยู่ และสารเคมีการเกษตรที่ผลิตและ/หรือจำหน่ายอยู่ในไทย (ซึ่งจำนวนมากก็ผลิต และจำหน่ายโดยบริษัทยุโรปเอง) ซึ่งใช้ถูกต้องตามเงื่อนไขบนฉลากนั้น ส่วนใหญ่สหภาพยุโรปยอมรับ ผัก/ผลไม้ที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ ยุโรปจะห้ามเข้าก็ต่อเมื่อมีปริมาณตกค้างเกินกำหนดเท่านั้น
 ทีนี้ ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินเรื่อง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ใช่ไหมครับ พ.ร.บ.นี้มุ่งให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายข้างต้นในการลดปริมาณการใช้สารเคมี และวิธีการใช้ที่ถูกต้องในประเทศ ซึ่งเป็นหลักการที่ดีมาก น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง โดย พ.ร.บ. กำหนดเส้นตายให้ใบอนุญาตผลิตและนำเข้าสารเคมีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันต้องสิ้นอายุลงทั้งหมดในวันที่ 22 ส.ค. 2554 รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรด้วย ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น และหวังว่าทุกฝ่ายจะตระหนักและเร่งดำเนินการ เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดต้องอาศัยเวลาผ่านกระบวนการขึ้นทะเบียน ตั้งแต่คำขอ การค้นคว้า การทดลอง-ทดสอบในไทย จนกระทั่งกว่าจะได้ใบอนุญาต
เนื่องจากมีเวลาเหลืออยู่ไม่มาก จึงไม่ค่อยแน่ใจกันนักว่าผลิตภัณฑ์สำหรับพืชเศรษฐกิจทุกชนิดของไทยจะมีใบอนุญาตครบถ้วนภายในเส้นตายนี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดช่องว่างขึ้น เพราะหากไม่มีผลิตภัณฑ์ใช้หลังเส้นตายครบทุกผลิตภัณฑ์ หรือมีใช้กับชนิดพืชบางชนิดเท่านั้น อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตสินค้าส่งออกภาคเกษตร หรืออาจทำให้เกษตรกรหันไปใช้สารเคมีอื่นที่นำเข้าหรือไม่ผ่านระบบการควบคุม/อนุญาตของรัฐ และส่งผลให้ประเทศยุโรปไม่ยอมรับให้นำเข้าก็เป็นได้ หวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงช่วยกันดูนะครับ
จำนวนผู้เข้าชม: 2224

busy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น