วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ซีอีโอถกยุทธศาสตร์ค้ายังไร้

                                                                                                             200 ซีอีโอ ถกยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศครั้งแรกยังไร้ทิศทาง แต่ละภาคส่วนยังห่วงแต่ปัญหาตัวเอง ภาคเกษตรผวาอียูตัดจีเอสพี อุตสาหกรรมร้องขาดข้อมูลเชิงลึกคู่ค้า ภาคบริการผวาต่างชาติใช้นอมินีของนอมินีฮุบที่ดินไทย กรมเจรจาฯ-ศศินทร์เผยเตรียมถกอีกหลายยก ก่อนจัดเวทีใหญ่รอบสุดท้าย รวบรวมเป็นสมุดปกขาวเสนอว่าที่รัฐบาลใหม่
 ในการสัมมนาเพื่อระดมสมองผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน(CEO Camp) กว่า 200 องค์กรเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทย จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ เมืองพัทยา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไฮไลต์ได้แบ่งกลุ่มระดมสมองออกเป็น 4 กลุ่มย่อยประกอบด้วย ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และประเด็นความท้าทายร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ
 ดร.ปิยะนุช  มาลากุล ณ อยุธยา รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปในส่วนของภาคการเกษตรว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยยังมีปัญหาที่สำคัญใน 3 ประเด็น หนึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ต่างๆ  รวมถึงขาดแคลนวัตถุดิบอาหารทะเล และแรงงานในอุตสาหกรรม
 ประเด็นที่ 2 ภาคการเกษตรของไทยยังมีปัญหาผลประโยชน์ขัดแย้งกัน(Conflict of Interest) ในหลายเรื่อง เช่นต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น การตัดแต่งพันธุกรรม แต่ก็เกรงจะไปทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และประเด็นที่ 3 ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเปิดเสรีทางการค้า(เอฟทีเอ)ในกรอบต่างๆ  เช่น เอฟทีเอที่ทำกับจีน อินเดีย เนื่องจากคู่ค้ายังมีการปิดตลาด โดยมีการปกป้องสินค้าอ่อนไหวไม่ให้เข้าไปแข่งขัน
 "อีกเรื่องหนึ่งที่ที่ประชุมมีความกังวลคือในอีก 2-3 ปีข้างหน้าสินค้าของไทยมีแนวโน้มอาจถูกตัดจีเอสพี(สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) จากอียู(สหภาพยุโรป)จากการที่จีดีพีของประเทศไทยเติบโตมาตามลำดับ รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้นเกินเกณฑ์ที่จะได้รับจีเอสพี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันมาก"
 สำหรับข้อเสนอแนะในการทำยุทธศาสตร์การค้าฯในส่วนของภาคการเกษตรเสนอให้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการค้าเป็นรายสินค้า ให้นำกฎเกณฑ์การค้าสินค้าเกษตรขององค์การการค้าโลก(WTO) มาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาหากคู่ค้ามีการกีดกัน และไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ รวมถึงเจรจาผลักดันตลาดใหม่ๆ เช่นอาเซียน จีน อินเดีย ที่มีความตกลงเอฟทีเอกับไทยให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรให้เรามากขึ้น
 ดร.วัชรัศมิ์  ลีลาวัฒน์ รองผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวสรุปในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมว่า ปัญหาทางการค้าของไทยคือการยังใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอยังต่ำ เช่น ในกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า)ผู้ประกอบการไทยยังมีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มอาเซียน สัดส่วนเพียง 27% ของมูลค่าการส่งออก ในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องวางยุทธศาสตร์การค้า ภาคเอกชนขอให้กรมเจรจาการค้าฯให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงลึกถึงโอกาสด้านต่างๆ ในแต่ละประเทศ
 ด้าน ผศ.ดร.เสาวนีย์  ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สรุปในภาคบริการ ประเด็นที่สำคัญคือ ในส่วนของการเปิดเสรีด้านอสังหาริมทรัพย์ยังห่วงในเรื่องต่างชาติจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการใช้ที่ดินเกินกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด โดยใช้ตัวแทนของตัวแทน(นอมินีของนอมินี)มาถือหุ้นในบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ไทยจะมีกฎหมายดูแลแต่ก็มีช่องโหว่ในทางปฏิบัติทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ส่วนในยุทธศาสตร์การค้าฯขอให้มีการกำหนดแผนการผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
 ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs(SIGA) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การระดมสมองเพื่อประกอบการวางแผนกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของไทยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก จากนี้ไปได้วางแผนที่จะจัดระดมสมองอีกหลายเวที เช่น เวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เวทีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เวทีทีมเศรษฐกิจจากพรรคการเมือง และเวทีองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) เป็นต้น หลังจากนั้นจะจัดสัมมนาใหญ่โดยเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วม เมื่อได้แนวยุทธศาสตร์ที่ตกผลึกแล้วจะได้จัดทำเป็นสมุดปกขาวนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อช่วงผลักดันแผนยุทธศาสตร์ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,642 9-11  มิถุนายน พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น